Mannerheim, Carl Gustaf Emil (1867-1951)

นายคาร์ล กุสตาฟ เอมิล มานเนอร์เฮม (๒๔๑๐-๒๔๙๔)

​​     คาร์ล กุสตาฟ เอมิล มานเนอร์เฮม เป็นประธานาธิบดีฟินแลนด์ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๔-๑๙๔๖ และรัฐบุรุษอนุรักษนิยมซึ่งมีบทบาทโดดเด่นในการรบป้องกันฟินแลนด์จากการรุกรานของสหภาพโซเวียตที่มีกำลังเหนือกว่าในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เขาเป็นผู้นำทางทหารที่มีความสามารถและเป็นนักการเมืองที่ฉลาดซึ่งสามารถเจรจาต่อรองและขอความช่วยเหลือได้กับทุกฝ่ายไม่ว่าเยอรมนีหรือสหภาพโซเวียตเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ
     มานเนอร์เฮมเกิดเมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๖๗ ที่เมืองวิลล์นาส (Villnas) ฟินแลนด์ ในตระกูลขุนนางซึ่งมีบรรพบุรุษเป็นชาวดัตช์ เขาเป็นบุตรคนที่ ๓ ชื่อต้นของเขา คือ คาร์ล กุสตาฟ เอมิล แต่ผู้คนมักเรียกเขาว่า กุสตาฟ ซึ่งเป็นชื่อกลางและเขาก็ใช้ชื่อนี้ลงนามในจดหมายส่วนตัว หรือใช้อักษรย่อว่าจี (G) เขาพูดภาษาสวีเดนมาตั้งแต่เด็กและยังพูดภาษาอื่น ๆ ได้


อย่างคล่องแคล่วคือ รัสเซีย ฝรั่งเศส เยอรมัน อังกฤษ โปล และภาษาฟินน์ แต่กล่าวกันว่าเขาไม่พูดภาษาฟินน์จนกระทั่งมีอายุเข้า ๕๐ ปี เฮนริก มาร์ไฮน์ (Henrik Marhein) บรรพบุรุษของครอบครัวนี้เป็นนักธุรกิจและเจ้าของโรงสีซึ่งอพยพมาอยู่ที่เมืองเยฟเลอ (Gävle) ในสวีเดน เอากุสติน มาร์ไฮน์ (Augustin Marhein) บุตรชายได้รับการยกย่องว่าเป็นชนชั้นผู้ดี ต่อมาได้เปลี่ยนนามสกุลเป็นมานเนอร์เฮม โยฮัน เอากุสติน มานเนอร์เฮม (Johan Augustin Manneheim) บุตรชายรับราชการเป็นนายพันสังกัดกองทหารปืนใหญ่ และดูแลธุรกิจโรงสี เขาและน้องชายได้รับตำแหน่งขุนนางระดับบารอนใน ค.ศ. ๑๗๖๘ ต่อมาในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ตระกูลมานเนอร์เฮมย้ายมาอยู่ที่ฟินแลนด์
     เคานต์คาร์ล เอริก (Carl Erik) ปู่ทวดของมานเนอร์เฮม ดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนของฟินแลนด์ในสมัยที่ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของรัสเซีย รวมทั้งยังเป็นสมาชิกสภาสูงอีกด้วย ส่วนเคานต์คาร์ล รอเบิร์ต (Carl Robert ค.ศ. ๑๘๓๕-๑๙๑๔) ผู้ บิดาเป็นกวี นักประพันธ์ และนักธุรกิจ ต่อมาครอบครัวมานเนอร์เฮมล้มละลายสิ้นเนื้อประดาตัวเพราะธุรกิจล้มเหลว บิดาจึงหันไปยึดอาชีพศิลปินในกรุงปารีส ส่วนเฮดวิก ชาร์ลอตตา ฟอน ยูลิน (Hedvig Chariotta von Julin ค.ศ. ๑๘๔๒-๑๘๘๑) มารดาซึ่งมาจากตระกูลร่ำรวยก็ต้องยอมขายคฤหาสน์ลูคารี (Louhkari) เพื่อชดใช้หนี้สินของสามี เมื่อเธอสิ้นชีวิต ลูก ๆ ก็อยู่ในการดูแลของญาติ มานเนอร์เฮมเข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยที่ เมืองฮามีนา (Hamina) ในฟินแลนด์เมื่อ ค.ศ. ๑๘๘๒ ในปีเดียวกันเขาถูกไล่ออกเนื่องจากทำผิดวินัย เขาเข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยเฮลซิงกิ (Helsinki Lyceum) และสอบผ่านเข้ามหาวิทยาลัยได้ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๘๗ แต่เปลี่ยนใจไปเข้าเรียนที่ โรงเรียนทหารม้านิโคลัส (Ni-cholas Cavalry School) ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กรัสเซีย เขาสำเร็จการศึกษาใน ค.ศ. ๑๘๘๙ มียศเป็นร้อยโท ขณะที่รอตำแหน่งทหารองครักษ์อยู่นั้น เขาได้เข้าประจำการที่กองทหารม้าที่ ๑๕ อเล็กซานเดรีย (The 15th Alexandria Dragoon Regiment) แห่งจักรวรรดิรัสเซีย
     ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๘๙๑ มานเนอร์เฮมเข้าประจำการเป็นทหารรักษาพระองค์ของซารีนา มาเรีย เฟโอโดรอฟนา (Maria Feodorovna) ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และได้สมรสกับอะนัสตาเซีย อะราโปวา (Anastasia Arapova) ธิดาของนายพลรัสเซียผู้หนึ่งด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ มีบุตรสาว ๒ คน คือ โซเฟียกับอะนัสตาเซียแต่ชีวิตคู่ก็ลงเอยด้วยการแยกกันอยู่ใน ค.ศ. ๑๙๐๒ และหย่ากันอย่างเป็นทางการใน ค.ศ. ๑๙๑๙ มานเนอร์เฮมรับราชการเป็นทหารองครักษ์จนถึง ค.ศ. ๑๙๐๔ เขามีความเชี่ยวชาญเรื่องม้าเป็นพิเศษ ใน ค.ศ. ๑๙๐๓ ได้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการแสดงของกองพันทหารม้าและเป็นผู้ฝึกม้าของกรมทหารม้า ต่อมาเขาถูกย้ายไปประจำการที่กองทหารม้าที่ ๕๒ ในแมนจูเรีย เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๔ ได้เลื่อนยศเป็นพันโท เมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanes War ค.ศ. ๑๙๐๔-๑๙๐๕)* เขาเข้าร่วมรบที่ มุกเดน (Mukden) และได้เลื่อนยศเป็นพันเอก
     ภายหลังสงครามเขาใช้ชีวิตอยู่ในฟินแลนด์และสวีเดนระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๕-๑๙๐๖ และได้เป็นสมาชิกสภาขุนนางของรัฐสภาของฟินแลนด์ ต่อมาเขาเดินทางไปพร้อมกับนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสชื่อ ปอล เปลีโอ (Paul Pelliot) สำรวจเอเชียกลางและดินแดนทางตะวันออกโดยเริ่มจากเมืองทาชเคนต์ (Tashkent) ไปจนถึงเมืองคาชการ์ [ (Kashgar) ปัจจุบันคือ เมืองข่าชื่อ Kashi] ประเทศจีนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๖ จากนั้นเขาก็แยกออกไปสำรวจประเทศจีนจนถึงฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. ๑๙๐๘ เป็นการสำรวจทางยุทธศาสตร์และมานุษยวิทยาเพราะดินแดนทางเหนือของประเทศจีนเป็นจุดสำคัญของวิกฤตการณ์ระหว่างรัสเซีย จีนและอังกฤษ หลังการสำรวจสิ้นสุดลง เขาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพันทหารม้าอูลานที่ ๑๓ และต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๑๓ เป็นผู้บัญชาการกองทหารม้า เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เขาบัญชาการรบต่อสู้กับกองทัพออสเตรีย-ฮังการีและโรมาเนียอย่างกล้าหาญจนมีชัยชนะซึ่งทำให้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เซนต์จอร์จ
     อย่างไรก็ตาม หลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ซึ่งทำให้ราชวงศ์ โรมานอฟ (Romanov)* สูญสิ้นอำนาจ มานเนอร์เฮม ลาออกจากราชการ ต่อมาเมื่อฟินแลนด์ประกาศเอกราชจากรัสเซียภายหลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ เขากลับไปฟินแลนด์และในต้น ค.ศ. ๑๙๑๙ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้นำกองกำลังฝ่ายรัสเซียขาวต่อสู้กับฝ่ายซ้ายฟินแลนด์ที่สนับสนุนบอลเชวิค (Bolsheviks)* ในสงครามกลางเมืองฟินแลนด์ เยอรมนีให้การสนับสนุนเขาซึ่งทำให้เขามีชัยชนะต่อกองกำลังฝ่ายโซเวียตในสงครามที่กินเวลา ๔ เดือน หลังสงครามสิ้นสุดลง เขาลาออกจากกองทัพเพื่อต่อต้านอิทธิพลของเยอรมนีในฟินแลนด์ และสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับฝ่ายผู้นำสัมพันธมิตร ซึ่งมีส่วนทำให้เขาได้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการฟินแลนด์ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ เป็นเวลา ๗ เดือน เขาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาและอังกฤษรับรองเอกราชของฟินแลนด์ รวมทั้งขอ ความช่วยเหลือด้านเสบียงอาหารจากต่างประเทศเพื่อแก้ไขภาวะขาดแคลนอาหาร เมื่อฟินแลนด์ประกาศเป็นสาธารณรัฐใน ค.ศ. ๑๙๑๙ มานเนอร์เฮมลงรับสมัครแข่งเป็นประธานาธิบดีแต่พ่ายแพ้ เขาจึงปลีกตัวออกจากการเมืองและระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๙-๑๙๓๑ ทำงานอาสาสมัครด้านสวัสดิการสังคมและองค์การการกุศลต่าง ๆ ซึ่งทำให้เขายังคงมีบทบาทในสังคม
     ใน ค.ศ. ๑๙๓๑ มานเนอร์เฮมกลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง โดยดำรงตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาด้านกลาโหมเป็นเวลา ๘ ปีเขาได้ผลักดันการสร้างแนวป้องกันประเทศที่เรียกว่า แนวป้องกันมานเนอร์เฮม (Mannerheim Line) ซึ่งผ่านคอคอดคารีเลียน (Karelian) ไปจนถึงเส้นพรมแดนติดเลนินกราด (Leningrad) แนวดังกล่าวมีวัตถุประสงค์จะป้องกันการรุกรานของสหภาพโซเวียต ในขณะเดียวกันมานเนอร์เฮมก็เสริมสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสวีเดน ต่อมาเมื่อสหภาพโซเวียตบุกโจมตีฟินแลนด์ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ มานเนอร์เฮมเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ต่อสู้การรุกรานของกองกำลังโซเวียตที่เหนือกว่าอย่างกล้าหาญและมีชัยชนะหลายครั้ง แต่ในท้ายที่สุดกองทัพฟินแลนด์ก็ประสบความพ่ายแพ้ และต้องยอมเจรจาสงบศึกใน ค.ศ. ๑๙๔๐
     เมื่อเยอรมนีบุกโจมตีสหภาพโซเวียตในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ ฟินแลนด์สนับสนุนเยอรมนีเพราะคาดหวังจะได้รับดินแดนที่ถูกโซเวียตยึดกลับคืนมานเนอร์เฮมเป็นแม่ทัพทำสงครามต่อต้านโซเวียตและในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๒ เขาได้รับแต่งตั้งเป็นจอมพล อย่างไรก็ตาม เมื่อสหภาพโซเวียตเริ่มเป็นฝ่ายตั้งรับและเข้มแข็งมากขึ้นและเยอรมนีอ่อนกำลังลงกองทัพฟินแลนด์จึงต้องล่าถอย ต่อมาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ มานเนอร์เฮมได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของประเทศ และดำเนินการเจรจาทำสนธิสัญญาสันติภาพกับสหภาพโซเวียต ซึ่งนำไปสู่การลงนามสนธิสัญญาสงบศึก (Armistice)* ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๔ ฟินแลนด์ต้องสูญเสียดินแดนแก่สหภาพโซเวียตมากยิ่งกว่าใน ค.ศ. ๑๙๔๐ มานเนอร์เฮมเป็นประธานาธิบดีจนถึงวันที่ ๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ และลาออกก่อนครบวาระเนื่องจากปัญหาสุขภาพ
     ในบั้นปลายชีวิต มานเนอร์เฮมได้ซื้อคฤหาสน์ เคิร์กนีมี (Kirkniemi) ที่เมืองโลยา (Lohja) เพื่อเป็นที่พักผ่อน แต่ใน ค.ศ. ๑๙๔๗ เขาต้องผ่าตัดฝี และมีผู้แนะนำให้ไปรักษาตัวที่สถานพักฟื้นวัลมง (Valmont) ในเมืองมงเตรอ (Montreux) สวิตเซอร์แลนด์ ณ ที่นั้นเขาได้เริ่มเขียนบันทึกความทรงจำ (ต่อมาพิมพ์เผยแพร่ ใน ค.ศ. ๑๙๕๒ ในชื่อ Mémoirs) อีก ๓ ปีต่อมา มานเนอร์เฮมก์ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๑๙๕๑ ที่เมืองโลซานน์รวมอายุได้ ๘๔ ปี ศพของเขาถูกนำมาฝังที่สุสานฮีทานีมี (Hietaniemi) ในกรุงเฮลซิงกิเมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๕๑ รัฐบาลได้จัดพิธีให้อย่างสมเกียรติ.



คำตั้ง
Mannerheim, Carl Gustaf Emil
คำเทียบ
นายคาร์ล กุสตาฟ เอมิล มานเนอร์เฮม
คำสำคัญ
- มาเรีย เฟโอโดรอฟนา, ซารีนา
- มานเนอร์เฮม, แนวป้องกัน
- ฮามีนา, เมือง
- คาเรเลียน, คอคอด
- มาร์ไฮน์, เอากุสติน
- โลยา, เมือง
- มานเนอร์เฮม, คาร์ล กุสตาฟ เอมิล
- มานเนอร์เฮม, โยฮัน เอากุสติน
- รอเบิร์ต, เคานต์คาร์ล
- เยฟเลอ, เมือง
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- มาร์ไฮน์, เฮนริก
- วิลล์นาส, เมือง
- เอริก, เคานต์คาร์ล
- การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์
- เปลีโอ, ปอล
- ทาชเคนต์, เมือง
- คาชการ์, เมือง
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- มุกเดน
- บอลเชวิค
- ยูลิน, เฮดวิก ชาร์ลอตตา ฟอน
- สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น
- โรมานอฟ, ราชวงศ์
- อะราโปวา, อะนัสตาเซีย
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สนธิสัญญาการสงบศึก
- มงเตรอ, เมือง
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1867-1951
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๑๐-๒๔๙๔
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ปราณี ศิริจันทพันธ์
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 4.M 269-394.pdf